COLUMNIST

หุ่นยนต์อัจฉริยะ คัดแยกขยะเหนือมนุษย์
POSTED ON -


 

การคัดแยกขยะเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ยังคงเป็นปัญหาอมตะในทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยของพนักงานคัดแยกขยะด้วยแล้ว แม้แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย หากต้องผ่าน EHIA (Environmental Health Impact Assessment) เป็นอันว่าใช้คนคัดแยกขยะไม่ได้ ดังนั้น ท่านที่เป็นนักดูงานต่างประเทศอย่าแปลกใจว่าทำไมในหลายประเทศเขาไม่ยอมให้พวกเราถ่ายภาพขณะที่ใช้คนงานคัดแยกขยะ

 

การคัดแยกขยะเป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่และเพิ่มมูลค่า ช่วยรักษาโลกไม่ให้ร้อนเร็วจนเกินไป แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าคนคัดแยกต้องเสียอะไรบ้างเพื่อแลกกับรายได้เพียงเล็กน้อย เริ่มตั้งแต่ยอมเป็นประชากรชั้น 2 อยู่ในพื้นที่อากาศเสียวันละไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง เสี่ยงกับสารเคมี และต้องเพ่งมองของที่คนทั่วไปเรียกว่า "ขยะ" ตลอดเวลาทำงาน... นี่คือจุดกำเนิดของเจ้าหุ่นยนต์อัจฉริยะ "เซนโรโบติกส์" (ZenRobotics) ที่จะมาช่วยปลดแอกให้กับชนชั้น 2 ซึ่งเรามาเรียนรู้ที่มาของเจ้าหุ่นยนต์อัศจรรย์ตัวนี้กันดีกว่า

 

หุ่นยนต์อัจฉริยะตัวนี้ถือกำเนิด ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนและแสงเหนือออโรร่า ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในดินแดนไฮเทคทางยุโรปเหนือ มีรายได้ประชากรต่อคนสูงกว่าไทยเกิน 10 เท่า ในขณะที่ประชากรน้อยกว่าไทย 10 เท่า เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก ครองแชมป์ติดต่อกันหลายปี ในขณะที่ไทยมีระบบการศึกษาเกือบท้ายสุดในอาเซียน ทั้งๆ ที่ชั่วโมงเรียนในสถานศึกษาไทยมีมากกว่าฟินแลนด์ถึง 2 เท่า

 

ฟินแลนด์มีแสงแดดปีละ 4 เดือน แต่ส่งออกไม้สน ไทยมีแสดงแดดทั้งปี แต่กลับนำเข้าไม้แปรรูปจากฟินแลนด์ นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังมีเทคโนโลยีการนำของเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์อีกมากมาย เช่น การผลิตเอทานอลจากเศษเหลือจากภาคการเกษตร (เซลลูโลสิกเอทานอล) และการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ถึง 90% รวมไปถึงที่กำลังช่วยคนไทยผลิต RDF (Refuse Derived Fuel) จากขยะชุมชนอย่างได้ผลดีในขณะนี้ก็เป็นเทคโนโลยีจาก BMH Technology Oy บริษัทสัญชาติฟินแลนด์เช่นกัน

 

ZEN หุ่นยนต์อัจฉริยะ นวัตกรรมชิ้นเอกของ "มิสเตอร์ไลเนอร์" (Mr.Lainer Rehn) และทีมงาน ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้เป็นหุ่นยนต์คัดแยกขยะตัวแรกของโลกที่เรียกได้ว่าเป็นหุ่นยนต์ที่เหนือหุ่นยนต์ตามท้องตลาดทั่วๆ ไป เนื่องจากเจ้าหุ่นยนต์อัจฉริยะตัวนี้มีศักยภาพในการคัดแยกขยะที่แม้กระทั่งขยะที่มนุษย์เองก็ไม่สามารถคัดแยกได้เลยก็ว่าได้

 

หุ่นยนต์อัจฉริยะตัวนี้เกิดจากการค้นคว้า วิจัย วางระบบกลไกภายในที่ซับซ้อนต่างๆ อย่างมีระบบของมิสเตอร์ไลเนอร์และทีมงานที่กำลังจะฉีกกฎการคัดแยกขยะด้วยคน และตอบโจทย์ความต้องการของวงการจัดการขยะที่ต้องการหาทางหลีกเลี่ยงการคัดแยกขยะด้วยแรงงานคน นี่คือเหตุผลที่ทำไมเข้าหุ่นยนต์อัจฉริยะตัวนี้จึงเป็นที่จับตามองและได้รับความสนใจอย่างสูงสุดทั่วโลกในขณะนี้

 

ZenRobotics อาจจะกลายเป็นหุ่นยนต์ที่พลิกหน้าตาประวัติศาสตร์ของการคัดแยกขยะของโลกที่ถูกนักวิทยาศาสตร์มองข้ามไปแล้ว และปล่อยให้ปัญหาทางสังคมเป็นปัญหาต่อไปอย่างในปัจจุบัน

 

Zen หุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะต่างกับหุ่นยนต์ทั่วไปในโรงงานอุตสาหกรรมที่ช่วยทำงานซ้ำๆ และน่าเบื่อ รวมถึงขยะที่มีมลพิษอย่างเช่นงานเชื่อมโลหะ แต่ Zen ได้รับการใส่โปรแกรมให้ทำงานได้มากกว่านั้น สามารถคัดแยกวัตถุที่เคลื่อนไหวบนสายพานซึ่งแตกต่างกันทั้งชนิดและขนาด โดยใช้แขนกลที่มี 2 นิ้ว บังคับหมุนจับตามมุมวัตถุที่จะหยิบขึ้นมา แล้วทิ้งลงถังขยะแต่ละชนิดที่วางไว้ นี่คืองานที่มนุษย์เองต้องผ่านการฝึกอบรมและเรียนรู้จึงจะทำได้

 

Zen ได้รับการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์หลายๆ ระบบเข้าด้วยกัน เช่น กล้องสเปกตรัมแสง NR เครื่องสแกนเลเซอร์ 3 มิติ รังสีเอ็กซ์ เป็นต้น ทำให้เจ้าหุ่นยนต์ Zen สามารถวิเคราะห์ คัดแยกชนิดและขนาดของขยะออกจากกันได้

 

ZenRobotics ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สลับกับกระแสไฟฟ้าปกติ ซึ่ง 70% ของไฟฟ้าในประเทศฟินแลนด์ได้มาจากนิวเคลียร์ โดย Zen ทำงานวันละ 24 ชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 8 กิโลวัตต์ในรุ่นมาตรฐาน และ 10 กิโลวัตต์ในรุ่น Heavy Duty คัดแยกได้ตั้งแต่ไม้ เหล็ก คอนกรีต หิน และพลาสติก ยิ่งเป็นพลาสติกด้วยแล้ว ZenRobotics สามารถแยกสีของพลาสติกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ในอีกไม่ช้าคงแยก PVC ออกจากพลาสติกทั่วไปได้ จะได้ลดไดออกซินลง เมื่อมีการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง

 

ส่วนการบำรุงรักษาหลักก็แค่เติมน้ำมันหล่อลื่นตามปกติ ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่บ่อย ในอนาคตหากเจ้าหุ่นยนต์สมองกลเกิดฉลาดกว่านี้ คิดเองได้มากขึ้น อาจมีการต่อรองกับนายจ้างหรือไม่ ใครจะไปรู้ อนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้บนโลกใบนี้

 

ZenRobotics จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้มากน้อยเพียงใด คงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและราคาที่เหมาะสม ปัจจุบันยักษ์ใหญ่วงการรีไซเคิลระดับโลกอย่าง SITA ประเทศฟินแลนด์ ได้สั่งหุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะเข้าไปใช้งานแล้ว 3 ตัว เมื่อมีรายที่ 1 ก็จะมีรายที่ 2 และ 3 ตามมา แต่จะเป็น ZenRobotics หรือคู่แข่งจากประเทศอื่นคงต้องอดใจดูกันต่อไป

 

ประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์อัจฉริยะ ZenRobotics (ประมาณการณ์ ก.ย.2556)

ZenRobotics Recycler

Fast Picker Model

Heavy Picker Model

 คัดแยกน้ำหนักวัตถุได้สูงสุด

5 กิโลกรัม

20 กิโลกรัม

 ความเร็วในการคัดแยก

2,400 ชิ้น/ชั่วโมง

(2 กิโลกรัม)

1,400 ชิ้น/ชั่วโมง

(5 กิโลกรัม)

 ขนาดของวัตถุที่คัดแยกได้ (กว้าง X ยาว)

40-400 มิลลิเมตร

40-1,000 มิลลิเมตร

 50-150 มิลลิเมตร

40-300 มิลลิเมตร

 ความกว้างของสายพาน

 1,400 มิลลิเมตร

1,600 มิลลิเมตร

 อัตราการใช้พลังงาน

 8 กิโลวัตต์

10 กิโลวัตต์

 

 

เยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิล SITA เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

 

ถ้าจะบอกว่าที่ไหนมีเทคโนโลยี ที่นั่นมีคนไทย ก็คงไม่ผิด ประเทศไทยน่าจะชนะประเทศใดๆ ในอาเซียนด้านการช็อปปิ้ง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อใช้ส่วนตัวของคุณแม่บ้านไฮโซ หรือการช็อปปิ้งเทคโนโลยีของพ่อบ้านนักนวัตกรรม เพื่อตอบสนองธุรกิจหรือแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม

 

ท่านอาจคิดว่า ZenRobotics เป็นเพียงหุ่นยนต์ที่อยู่ในแล็บ สาธิตให้ผู้สนใจได้เข้าชมเท่านั้น แต่คงคิดไม่ถึงว่าในโลกนี้จะมีโรงงานรีไซเคิลขนาดใหญ่คัดแยกขยะด้วยหุ่นยนต์ 3 ตัว ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่บ่น ไม่ผิดกฎหมายแรงงาน ไม่ต้องปรับเงินเดือน สามารถทดแทนแรงงานคนได้กว่า 15-20 คน ในการคัดแยกของชนิดต่างๆ วันนี้การใช้หุ่นยนต์ในประเทศฟินแลนด์อาจจะคุ้มค่า เนื่องจากค่าแรงแพงกว่าคนไทยหลายเท่าตัว ในอนาคตเมื่อหุ่นยนต์มีการผลิตมากขึ้น ฉลาดมากขึ้น และราคาถูกลง หากราคาลดลงเหมือนแผงโซลาร์เซลล์ เมื่อนั้นไทยอาจไม่มีงานคัดแยกขยะให้เพื่อนชาวอาเซียนทำก็ได้

 

แล้วประเทศไทยเมื่อไหร่จะรู้จักนำทรัพยากรที่มีค่าที่ปนอยู่ในขยะมาใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อโลกเรา "หยุดฝังกลบ หยุดเผาโดยไม่คัดแยก" ไม่ว่าเจ้า ZenRobotics จะมาช่วยคนไทยคัดแยกขยะได้หรือไม่ คุ้มหรือไม่คุ้มกับการลงทุน แต่สำหรับเมืองไทยของเราแล้วการจัดการขยะยังมีเรื่องที่ต้องช่วยกันหาคำตอบอีกมากมาย รวมทั้งอะไรที่รัฐบาลชุดนี้ควรทำ และอะไรที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ควรทำ

 

แล้ววันนี้คุณคัดแยกขยะแล้วหรือยัง เดี๋ยวอายหุ่นยนต์นะ